“การบ้านเยอะจนเครียด เรียนออนไลน์ก็ไม่รู้เรื่อง”
“หัวหน้าดุอีกแล้ว งานที่ทำกำลังฆ่าเราอย่างช้า ๆ”
“คนที่รักกลับกลายเป็นเฉยชา ครอบครัวก็ไม่สนใจ”
เคยไหมทุกสิ่งที่เข้ามาทำให้เรารู้สึกเครียดจนทนไม่ไหว ?
Hyperventilation Syndrome ภาวะรู้สึกเครียดและวิตกกังวลกับอะไรบางอย่างจนหายใจไม่ออก เคลื่อนไหวร่างกายไม่ถนัด หายใจเข้าไปเท่าไหร่อากาศก็ไม่ลงปอดเสียที มีอาการหูอื้อ หน้ามืด เวียนหัวเหมือนจะเป็นลม มือเย็นเท้าเย็น บางทีก็เกิดอาการมือจีบ ตัวเกร็งไปหมด และอาการเหล่านี้มักจะมาในช่วงที่คุณรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมาก ๆ ซ้ำร้ายคนรอบตัวยังไม่เข้าใจ และคิดว่าคุณอาจกำลัง ‘เรียกร้องความสนใจ’ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย
สาเหตุเกิด Hyperventilation Syndrome ภาวะหายใจหอบเพราะอารมณ์
สิ่งที่คุณเป็นอยู่ (หรือคนใกล้ตัวของคุณกำลังเป็น) อาจจะเป็นอาการของ ‘Hyperventilation Syndrome’ หรือ ‘ภาวะหายใจหอบเพราะอารมณ์’ ซึ่งมีสาเหตุมาจากด้านอารมณ์และจิตใจ ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล รู้สึกกลัว ประหม่า โดยก่อนเกิดอาการพบว่าผู้ป่วยมักประสบภาวะกดดันทางจิตใจ เช่น ปัญหาการเรียน รู้สึกเครียดจากที่ทำงาน ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกตื่นกลัว เครียด กังวลมาก ๆ จนทำให้เกิดภาวะ Hyperventilation ขึ้น
ภาวะหายใจหอบเพราะอารมณ์นี้เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ประมาณ 20-30 นาทีเท่านั้น พบว่าเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เมื่อมีอาการ ร่างกายจะหายใจเร็ว หอบลึก ทำให้มีออกซิเจนในเลือดมากกว่าปกติ และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามมาคือ รู้สึกหายใจลำบาก เหมือนหายใจเท่าไหร่ก็ไม่พอ หัวใจเต้นแรง ใจสั่น รู้สึกหวิว ๆ หน้ามืดและเวียนหัว และเมื่อออกซิเจนในเลือดมากเกินไปฉับพลันก็นำไปสู่ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้มือเท้าจีบเกร็ง มือเท้าเย็น ชาบริเวณปลายมือปลายเท้า
ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ แต่ร่างกายมันไปเอง
ถึงแม้ว่าอาการนี้จะไม่ส่งผลอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็อาจจะรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่สำคัญคือสภาพจิตใจที่อาจจะเหนื่อยล้ากับอาการที่เป็นอยู่ หลายคนที่มีอาการนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไร แถมยังถูกตัดสินด้วยอคติ ว่าเรียกร้องความสนใจบ้างแหละ ทำตัวนางเอกบ้างแหละ
อย่างเช่นกรณีของบางมหาวิทยาลัยที่มีการรับน้อง นิสิตนักศึกษาปีหนึ่งที่พึ่งผ่านพ้นวัยมัธยมมาสด ๆ ร้อน ๆ ปรับตัวกับวัฒนธรรมและบรรยากาศใหม่ ๆ ไม่ทัน จนเกิดภาวะหายใจหอบเพราะอารมณ์ หน้ามืด จะเป็นลม มือจีบกันอยู่บ่อยครั้ง หรืออย่างวัยทำงานช่วงที่ต้องเตรียมนำเสนองานกับลูกค้าแล้วรู้สึกเครียด วิตกกังวลมากจนหายใจไม่ทัน แม้กระทั่งในเด็กเล็กเองก็มีอาการนี้ได้เช่นกัน เมื่อรู้สึกขัดใจ ตกใจ เครียดกับสถานการณ์ตรงหน้า จนทำให้เกิดอาการนี้ขึ้น
น่าเศร้าที่หลายครั้งคนเหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นพวกชอบเรียกร้องความสนใจ หรือ ‘Attention Seeker’ เนื่องจากภาวะนี้เกิดขึ้นจากใจที่โดนกระทบกะทันหัน หรือจากอารมณ์ที่กดดัน บางครั้งใจพยายามควบคุมแล้ว แต่ร่างกายดันตอบสนองออกมาเป็นอาการที่แม้แต่คนที่เป็นบางคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็น ซึ่งภาวะนี้หากเป็นหลาย ๆ ครั้ง ร่างกายอาจกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นมาเองได้แม้จะไม่ได้เครียด เช่น บางครั้งแค่ถอนหายใจลึก ๆ ก็เริ่มเกิดอาการหายใจหอบได้จนคล้ายกับแกล้งทำ คนรอบข้างเลยคิดว่าเป็นเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจ และทำให้คนที่มีภาวะนี้รู้สึกเครียดและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นจนทำให้อาการแย่กว่าเดิม
ถ้าเกิดอาการแบบนี้ ควรทำอย่างไรดี?
- พยายามควบคุมสติและหายใจให้ช้าลง เพราะอาการที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการหายใจเร็วเป็นหลัก พยายามนับจังหวะหายใจเข้าออก หากควบคุมลมหายใจได้ก็จะทำให้อาการค่อย ๆ ดีขึ้น
- คลายเคียด หาทางป้องกันด้วยการเสริมสร้างสุขภาพจิตให้แข็งแรงขึ้น และเสริมความแข็งแรงของร่างกาย ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการ
- ควรพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาหรือการใช้ยาช่วยเหลือตามความจำเป็น
เพราะร่างกายรู้ดี…สิ่งสำคัญคือการ ‘ดูแลใจ’
นอกจากวิธีการดูแลร่างกายแล้ว การดูแลตัวเองทางใจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากเราพิจารณาสาเหตุของการเกิด Hyperventilation จะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับสภาวะของจิตใจเป็นหลัก โดยเฉพาะความเครียดและความรู้สึกวิตกกังวล สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ “การดูแลใจ” ให้ดี หมั่นตรวจสอบอารมณ์ความรู้สึกตัวเองบ่อย ๆ พูดคุยปรึกษากับเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจ เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล ที่สำคัญคือ “การปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” ที่จะช่วยให้ตัวเราเข้าใจภาวะนี้ได้ดีขึ้น รู้วิธีจัดการกับอารมณ์และความเครียดที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะควบคุมภาวะดังกล่าวได้
นอกจากการดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญกับใจก็คือแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง หากเราเป็นคนหนึ่งที่มีอาการนี้หรือมีคนใกล้ตัวประสบปัญหาเหล่านี้ อย่าลืมว่าเขาต้องได้รับการดูแลรักษา ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพวกเขา ‘แกล้งทำ’ แต่เป็นเพราะจิตใจกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ดังนั้นเราต้องเข้าใจและรับฟัง รวมถึงเป็นที่พักพิงทางใจในเวลาที่พวกเขาต้องการใครสักคนเคียงข้าง
หากคุณจะกำลังเผชิญกับความเครียดและความวิตกกังวลแบบไหน หรือคุณอาจจะกำลังมีอาการเหล่านี้อยู่หรือไม่ ทางอูก้ามีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาพร้อมช่วยเหลือและรับฟังคุณอยู่เสมอ มาดูแลใจไปด้วยกันนะ
อ้างอิง: pobpad.com