มีด้วยเหรอ?! อาการเห็นใจหรือมีความรู้สึกดี ๆ กับคนร้าย ที่กระทำสิ่งไม่ดีต่อเรา อูก้าขอตอบเลยว่า “มีแน่นอน” ซึ่งอาการนี้มีชื่อเรียกว่า “Stockholm Syndrome” หนึ่งในปริศนาทางจิตวิทยา ที่ทำเอาหลาย ๆ คนถึงกับอึ้ง! เมื่อทราบรายละเอียด โดยเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ที่ตัวประกันหรือบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทารุณกรรม หรือถูกกักขัง ได้พัฒนาความผูกพันทางอารมณ์กับคนร้าย คำว่า “Stockholm Syndrome” มีต้นกำเนิดมาจาก เหตุการณ์ปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 1973
“Stockholm Syndrome” คำอธิบาย ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ที่เกิดขึ้นในปี 1973
เหตุการณ์ปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นในปี 1973 นั้น มีตัวประกัน 4 คนถูกขังอยู่ในธนาคารเป็นเวลาหลายวัน แต่น่าแปลกที่หลังจากได้รับการปล่อยตัว ตัวประกันต่างแสดงความเห็นอกเห็นใจ และมีความรู้สึกเชิงบวกต่อคนร้าย มีมากล้นจนกระทั่งปกป้องการกระทำของคนร้าย และปฏิเสธที่จะให้การเป็นพยานในศาล ปฏิกิริยาที่น่างงงวยนี้ดึงดูดความสนใจของนักจิตวิทยาเป็นอย่างมาก และคำว่า “สตอกโฮล์มซินโดรม” ได้รับการบัญญัติขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้
ผู้ที่มีอาการ Stockholm Syndrome มักจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่อไปนี้
ผู้ที่มีอาการของ สต็อกโฮล์มซินโดรม มักจะมีการประสบพบเจอกับปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน จากการสำรวจและเก็บข้อมูลของนักจิตวิทยาพบว่าเหยื่อที่มีอาการนี้ มักจะเกี่ยวข้องกับปัจจัย ดังต่อไปนี้
- มีการถูกจองจำ: เหยื่อจะถูกบังคับ, กักขัง ไว้ตามความประสงค์ของคนร้าย
- เหยื่อรับรู้ถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้น: เหยื่อจะตระหนักและรับรู้ถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้น โดยคนร้ายมักจะสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และความไม่แน่นอน ที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตของเหยื่อได้ทุกเมื่อ
- เหยื่อมีความรู้สึกโดดเดี่ยว และต้องการการพึ่งพา: เหยื่อจะถูกจับและแยกตัวออกจากสังคม จนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และต้องพึ่งพาคนร้ายในเรื่องของ การทานอาหาร การเข้าห้องน้ำ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอำนาจ
- การแสดงความเมตตาจากคนร้าย: บางครั้งคนร้ายอาจแสดงความเมตตาหรือผ่อนปรนเหยื่อเป็นครั้งคราว เช่น พูดจาดี ๆ ด้วย พาเหยื่อไปห้องน้ำตามที่ร้องขอ ให้ทานอาหารครบ 3 มื้อ เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างความสับสน และสร้างอารมณ์แปรปรวนให้กับเหยื่อได้
- การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง: หลังจากผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มา เหยื่ออาจหาเหตุผลเข้าข้างตนเองหรือให้เหตุผลกับพฤติกรรมของคนร้าย มีการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคนร้าย ซึ่งนักจิตวิทยาระบุว่า สิ่งนี้เป็นกลไกในการเอาตัวรอดของเหยื่อ จากการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่สร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจ
Stockholm syndrome “ไม่ใช่” อาการทางจิตเวช
หากแต่เป็นคำอธิบายของสภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ที่ผู้ถูกกระทำแสดงออกมาหลังจากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกคุมขัง แม้ว่าจะมีการศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างกว้างขวาง แต่นักวิจัยก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ และไม่แน่ใจว่าเหตุใดบางคนจึงมีอาการ Stockholm Syndrome ในขณะที่บางคนไม่มีอาการนี้ แต่โดยรวมแล้วอาการนี้เป็น “กลไกการอยู่รอด” ชนิดหนึ่งของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบาดเจ็บและการถูกทารุณกรรม
คดีลักพาตัวและจับตัวประกัน มักเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายคนวิเคราะห์ว่า ความรู้สึกเชิงบวกของเหยื่อที่มีต่อผู้ทำร้ายเป็นการตอบสนองทางจิตใจ ซึ่งเป็นกลไกการเผชิญปัญหาที่ใช้เพื่อเอาตัวรอดจากการบาดเจ็บหรือการถูกทารุณกรรมเป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือแม้แต่หลายปี
เงื่อนไขทางจิตวิทยาอื่น ๆ ที่ทำให้เกิด อาการ Stockholm Syndrome
และนอกจากข้อมูลปัจจัยที่เราได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเงื่อนไขตามหลักจิตวิทยาอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเห็นอกเห็นใจคนร้ายขึ้นมาอีกด้วยเช่น
- เหยื่อได้รับการบาดเจ็บทางกาย
- ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะรู้สึก หรือจัดการสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไรดี
- มีความรู้สึกเชิงบวกต่อคนร้าย
- มีเห็นอกเห็นใจต่อความเชื่อ และพฤติกรรมของคนร้าย หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันแล้ว
- เหยื่อมีความรู้สึกด้านลบต่อตำรวจ หรือผู้มีอำนาจอื่น ๆ อยู่แล้ว
และเนื่องจากอาการสตอกโฮล์มซินโดรมไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาวะทางจิต จึงไม่มีวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีแนวทางในการเยียวยาเช่นเดียวกับการรักษาอาการ PTSD (อาการป่วยทางจิต หลังจากเจอเรื่องที่ร้ายแรงมา) การรักษาโรคสต็อกโฮล์ม จึงมักจะเกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาทางจิตเวชและจิตวิทยา หรือการบำบัดด้วยการพูดคุย หรืออาจมีการใช้ยาร่วมด้วย
การบำบัดช่วยรักษาอาการ Stockholm Syndrome ได้อย่างไร?
การบำบัดด้วยการพูดคุยหรือการใช้ยาร่วมในการรักษา จะช่วยบรรเทาอาการของผู้ที่มีอาการเห็นอกเห็นใจคนร้าย ดังนี้
- เป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับประสบการณ์ที่เหยื่อเจอมา
- ช่วยทำให้เหยื่อมีความเข้าใจว่า พฤติกรรมที่เห็นอกเห็นใจต่อคนร้าย เป็นทักษะการเอาชีวิตรอดอย่างหนึ่ง
- ช่วยทำให้เหยื่อเรียนรู้วิธีที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อได้ (Move on)
และนอกเหนือไปจากการบำบัดด้วยการพูดคุยแล้ว จิตแพทย์ก็อาจสั่งยาเพื่อทำให้ผู้เข้ารับการรักษา นอนหลับได้ดี หรือสั่งยาลดความวิตกกังวลหรือลดภาวะซึมเศร้าเพิ่มเติม
สรุป อาการ Stockholm Syndrome ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวประกันทุกคน หรือไม่ได้เกิดทุกในสถานการณ์ที่มีการคุมขังเหยื่อ การเกิดอาการนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาของการถูกจองจำ ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างเหยื่อและคนร้าย และลักษณะทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคล นักจิตวิทยาและนักวิจัยยังคงต้องศึกษา อาการ Stockholm Syndrome ต่อไป เพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของอาการนี้ให้ดียิ่งขึ้น และให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่ประสบกับอาการนี้ต่อไป