ช่วงนี้หลายคนคงรู้สึกว่าไม่มีสมาธิในการทำงานกันสักเท่าไหร่ จากที่เคยทำงานแค่หนึ่งชั่วโมงก็เสร็จ กลับกลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนแค่หาพื้นที่ส่วนตัวอยู่คนเดียวก็ช่วยให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้นแล้ว แต่พอต้องมาทำงานอยู่บ้านยาว ๆ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นว่าสมาธิสั้นลงซะงั้น พองานไม่เดินหน้าไปไหนสักที เราก็ยิ่งกังวลว่างานจะทำเสร็จไหมจนนอนไม่หลับ ต้องลุกขึ้นมาเปิดคอมทำงานต่อจนแทบไม่มีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว เพราะอะไรกันนะ ?
เพราะ “บ้าน” ทำให้เรากังวล จนไม่มีสมาธิในการทำงาน
โดยปกติแล้วเรามักจะคุ้นชินตามสัญชาตญานว่าบ้านต้องเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหลังจากที่เลิกงานมาเหนื่อย ๆ แต่โควิด-19 ทำให้หลายคนต้องปรับเปลี่ยนไปทำงานอยู่ที่บ้าน เราจึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการพักผ่อนไปควบคู่ไปกับการทำงานด้วย พอต้องทำงานอยู่ที่บ้านแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมภายในบ้านย่อมรบกวนการทำงานจนทำอะไรก็ไม่มีสมาธิ เคยไหมที่เรานั่งทำงานอยู่แล้วเห็นว่า ‘บ้านไม่สะอาด’ จนรู้สึก ‘รกหูรกตา’ เลยต้องลุกขึ้นมาทำความสะอาด เพราะเราต้องคอยมานั่งกังวลเรื่องที่บ้านและยังต้องมากังวลเรื่องงานอีกก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะไม่มีสมาธิในการทำงาน
งานวิจัยใน Emotion Journal (2007) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวลและประสิทธิภาพในการรู้คิด (Cognition) ได้แสดงให้เห็นว่าคนที่มีความกังวลมักให้ความสนใจกับสิ่งเร้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน เมื่อปริมาณงานของเราทั้งจากที่ทำงานและที่บ้านสูงขึ้น เราจำเป็นต้องใช้สมาธิมากขึ้นตามไปด้วย แต่กลายเป็นว่ามันกลับส่งผลให้เราเกิดความวิตกกังวลมากกว่าเดิม นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลจากงานตรงหน้าด้วยการให้ความสนใจกับสิ่งเร้ารอบข้างภายในบ้านมากกว่านั่นเอง
และเมื่อภาระงานทั้งจากที่ทำงานและที่บ้านผสมปนเปกันไปหมด เราก็ยิ่งต้องใช้พลังสมองมากเพื่อจัดลำดับความสำคัญว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลังจนเป็นผลให้เกิดอาการสมองล้ามากขึ้น ซึ่งอาการนี้เองก็ส่งผลให้ความคิดของเรายุ่งเหยิง กลายเป็นความวิตกกังวลจนไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องต่าง ๆ ได้ทีละอย่าง และสุดท้ายเลยทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้น้อยลง ถ้ายิ่งเราต้องทำงานที่ต้องใช้สมาธิหรือซับซ้อนมาก ก็ยิ่งฟุ้งซ่านและไม่สามารถจดจ่อกับมันได้เลย
กังวลจนนอนไม่หลับก็ทำให้ไม่มีสมาธิได้เหมือนกัน
เพราะการอยู่บ้านอย่างที่หลายคนรู้ว่าแทบไม่มีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเลย ทำให้เราทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็นจนลากยาวไปถึงค่ำกว่าจะเลิกงานได้ หรือแม้แต่ตอนที่นอนหลับอยู่ก็ยังกังวลเรื่องงานจนต้องลุกจากเตียงมาเปิดคอมทำงานต่อให้เสร็จ หลายคนต้องพักผ่อนไม่เพียงพอเพราะต้องทำงานแบบนี้อยู่เป็นประจำจนร่างการอ่อนเพลียจากการหักโหมงาน เมื่อร่างกายของเรารับมือกับมันไม่ไหวก็เป็นผลให้ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้นานและทำงานได้ช้าลงกว่าตอนที่ทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ
งานวิจัยใน Journal of Health Psychology (2021) ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการนอนไม่หลับและการไม่มีสมาธิ แสดงให้เห็นว่าคนที่มีอาการนอนไม่หลับจะมีสมาธิหรือความสามารถในการจดจ่อกับงานและตัดสินใจอย่างถูกต้องได้น้อยลงกว่าเดิม เป็นผลให้เราจดจ่อกับสิ่งเร้ารอบตัวภายในบ้านมากกว่างานที่ต้องทำจนไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
หากเรามีความกังวลอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม สมองของเราจะเต็มไปด้วยอคติและให้ความสนใจกับเรื่องที่กำลังวิตกกังวลมากขึ้น และความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องนี้เองก็ส่งผลให้นอนไม่หลับได้ หากเราอดนอนมาก ๆ หรือง่วงแต่นอนไม่หลับ ความจำในการทำงานก็ถูกทำลายจนเสื่อมสภาพและความสามารถในการจดจ่อกับงานก็ลดลงเป็นอย่างมาก เพราะอาการเหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นผลให้ไม่มีสมาธิในการทำงานมากขึ้นจนนำไปสู่การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพได้
แค่เปลี่ยนมุมมองก็สามารถรับมือกับการไม่มีสมาธิในการทำงานได้แล้ว
แม้ว่าการอยู่บ้านนานๆ จะทำให้เราไม่มีสมาธิในการทำงาน แต่เราก็ยังต้องทำงานอยู่ที่บ้าน จนกว่าวิกฤติครั้งนี้จะผ่านพ้น การพยายามจัดการและรับมือกับปัญหาก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนวัยทำงานหลายคน เราจะได้ไม่ต้องทรมานกับการไม่มีสมาธิทำงานที่บ้านอีกต่อไป
😣 จัดการกับสิ่งเร้าที่รบกวนสมาธิของเราให้ได้มากที่สุด
การถูกขัดจังหวะในการทำงานถือว่าเป็นตัวทำลายสมาธิชั้นดีเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการขัดจังหวะที่สั้นแค่ไหนก็ตาม เพราะเมื่อเรากำลังจดจ่อกับงานไปได้อย่างราบรื่นแต่ดันมีสิ่งเร้ามารบกวนสมาธิจนหลุดออกจากวงจรในการทำงานก็สร้างความน่าหงุดหงิดใจให้กับเราไม่น้อยเลย ถึงแม้ว่ามันเป็นไปได้ยากที่เราจะจัดการกับสิ่งเร้าที่มารบกวนสมาธิของเราไปได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราเริ่มต้นจากปิดการแจ้งเตือนบนโทรศัพท์ประมาณสามชั่วโมง และลองโฟกัสไปที่งานเพียงอย่างเดียวก็ช่วยกำจัดสิ่งเร้าที่เป็นต้นตอของการรบกวนที่ใหญ่ที่สุดไปได้หนึ่งอย่าง และก็ยังมีเวลาได้จดจ่อกับงานอย่างเต็มที่อีกด้วย
⏰ จัดตารางเวลาให้เหมาะสมกับความเป็นตัวเรา
ตารางเวลาช่วยให้เราสามารถจัดระเบียบความคิดของเราได้ดีว่าตั้งแต่เวลาไหนที่ต้องทำงานหรือถ้าเป็นเวลานี้ควรได้พักผ่อนแล้ว เพราะสมองของเราก็ไม่สามารถทำงานนาน ๆ ได้ตลอดทั้งวันเหมือนกับร่างกายของเรา ถ้าเรามีเวลาพักผ่อนที่ชัดเจน เช่น ภายในหนึ่งวันเรามีเวลาพักผ่อน 3 ครั้ง แบ่งออกเป็น ช่วงเช้า 30 นาที ช่วงพักเที่ยง 1 ชั่วโมง ช่วงบ่ายอีก 30 นาที หรืออาจจะหาเวลาสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองด้วยการฟังเพลงประมาณ 10 นาที มันก็ช่วยลดอาการสมองล้าที่นำไปสู่การไม่มีสมาธิได้ หรือถ้าหากจำเป็นต้องทำงานเกินเวลาที่กำหนดก็อย่าลืมหยุดพักผ่อนหลังจากที่ทำงานเสร็จแล้ว
ในช่วงสถานการณ์แบบนี้เราคงหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ที่น่าเบื่อหน่ายจากการกักตัวอยู่บ้านไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจนส่งผลต่อสุขภาพใจของตัวเอง เช่น กังวลจนนอนไม่หลับ หรือกังวลจนไม่มีสมาธิทำงาน มันก็อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าหรือส่งผลให้ทำลายสุขภาพใจของเราได้ ถ้าหากเราให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็เป็นตัวช่วยอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถกลับมามีความสุขกับทุก ๆ เรื่องได้เหมือนเดิม