“เมื่อทำสิ่งเดิม ๆ ย่อมที่จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม ๆ” ถ้าในวันนี้คุณรู้สึกว่าคุณอยากจะลองเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง มาเริ่มต้นจากสิ่งที่หลาย ๆ คนมองว่าเล็กที่สุดกันก่อนดีกว่า แต่อูก้าขอบอกเลยว่าจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ก็สามารถทำให้ชีวิตของคุณพบกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และดีกว่าเดิมในอนาคตได้
เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน
การคิดเชิงบวก (Positive thinking) คืออะไร?
หัวใจของการคิดเชิงบวก คือ การเผชิญหน้ากับความท้าทายในชีวิตด้วยมุมมองเชิงบวก ไม่ได้เป็นการมองโลกผ่านเลนส์สีกุหลาบ โดยเพิกเฉยหรือมองข้ามด้านลบของชีวิต การคิดเชิงบวก คือ การใช้ประโยชน์จากอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด พยายามมองเห็นสิ่งที่ดีที่สุดในตัวผู้อื่น และมองตัวเองในแง่บวก โดยการปลูกฝังความคิดบวกให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น
- มีการจัดการความเครียดที่ดีขึ้น และเป็นการยกระดับทักษะการเผชิญหน้ากับปัญหา
- ปรับปรุงทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
- ต้านทานโรคไข้หวัดได้มากขึ้น
- ลดอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า
- ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือด
การศึกษาในปี 2018 ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Aging Research พบว่า การมีทัศนคติเชิงบวกมีความเชื่อมโยงกับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงในช่วงวัย 35 ปี และผู้ที่มีทัศนคติเชิงบวกมากกว่า ยังมีแนวโน้มที่จะออกกำลังกายเป็นประจำ พยายามหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีการนอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
การฝึกคิดเชิงบวก มักทำให้เกิดความเครียดน้อยกว่า
ผู้ที่คิดบวกมักจะได้รับผลกระทบจากความเครียดน้อยกว่า การวิจัยชี้ให้เห็นว่า การมีความคิดเชิงบวกแบบอัตโนมัติ จะส่งผลทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต คนที่มีความคิดเชิงบวกในระดับสูง มักมีแนวโน้มที่จะหลีกหนีจากเหตุการณ์ตึงเครียด และเลือกที่จะไปทำสิ่งอื่นมากกว่าการจดจ่ออยู่กับเรื่องราวในแง่ลบ
วิธีฝึกคิดบวก (+)
ถ้าในวันนี้คุณยังเป็นคนที่มีความคิดในแง่ลบ หรือมีความกังวลในด้านลบ ๆ มากกว่าความคิดในแง่บวก ไม่เป็นไร เพราะคุณจะเริ่มต้นเปลี่ยนตัวเองตั้งแต่วันนี้แล้ว อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ที่คุณสามารถใช้เพื่อฝึกให้ตัวเองเป็นคนคิดบวกมากขึ้น การฝึกฝนกลยุทธ์เหล่านี้เป็นประจำ จะทำให้คุณมีนิสัยในการรักษาทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิตมากขึ้น
- จับสังเกตความคิดของคุณ: เริ่มให้ความสนใจกับความคิดที่คุณมีในแต่ละวัน หากคุณสังเกตเห็นว่าหลาย ๆ ครั้งที่คิดในแง่ลบ พยายามตั้งสติ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคุณให้เป็นไปในทางบวกมากขึ้น
- จดบันทึกในสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ: สำหรับขั้นตอนนี้ให้คุณเตรียมกระดาษและปากกา และเริ่มจดสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณในทุก ๆ วัน โดยสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดไหนก็ได้ เช่น ในวันที่ฝนตกคุณขอบคุณที่ไม่ลืมพกร่มมา ในวันที่คุณโดนเจ้านายดุ แต่ก็ขอบคุณที่ยังมีเพื่อนคอยปลอบใจ เป็นต้น เขียนวันละแค่ 2-3 ประโยคหรือ 2-3 เรื่องที่คุณรู้สึกดีในวันนั้นก็ได้ แล้วค่อยจับตาดูกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
- พูดคุยกับตัวเองในเชิงบวก: วิธีที่คุณพูดกับตัวเอง จะมารถมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมุมมองของคุณ การศึกษาพบว่า การให้กำลังใจตัวเองในเชิงบวก การชื่นชม ปลุกพลัง พูดสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองที่หน้ากระจกในตอนจะส่งผลดีต่ออารมณ์ในวันนั้นไปทั้งวัน
ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จากการคิดเชิงบวก (ข้อควรระวัง)
และถึงแม้ว่าการฝึกให้ตัวเองเป็นคนคิดบวกจะมีข้อดีมากเพียงใด แต่ทุก ๆ อย่างบนโลกนี้ก็ล้วนมีทั้งข้อดีข้อเสียปะปนกันไปรวมถึงแนวคิดนี้ด้วย ซึ่งก็มีข้อควรระวังที่อูก้าอยากจะมาแนะนำให้คุณได้ทำความเข้าใจเพิ่มเติม
- ถึงแม้ว่าการคิดบวกจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีหลายครั้งที่การคิดตามความเป็นจริงจะมีประโยชน์มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ในบางสถานการณ์ การคิดเชิงลบอาจนำไปสู่การตัดสินใจ และผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น
- หลาย ๆ คนมีความเข้าใจผิดคิดว่า การเป็นคนที่มีความคิดในเชิงบวกคือจะต้องเป็นคนที่อะไรก็ได้ ต่อให้โดนผู้อื่นเอาเปรียบ ทำร้ายจิตใจ ทำร้ายร่างกาย ก็ยังมีความคิดเชิงบวกที่จะไม่ถือสาหาความอยู่ ซึ่งอูก้าขอบอกเลยว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง การฝึกความคิดเชิงบวก เป็นการฝึกความคิดที่ทำให้คุณนั้นมองโลกมองโลกรอบตัวให้ดีขึ้น จากคนที่เคยขี้หงุดหงิดก็กลายเป็นคนที่หงุดหงิดน้อยลง จากคนที่เคยไม่มีความสุขเพราะหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง ก็มีการปล่อยวางไม่ได้มากขึ้น “แต่” ทุก ๆ คน ก็ยังคงต้องรักษาศักดิ์ศรี รักษาเกียรติ รักษาร่างกายของตัวเองตามหลักสิทธิส่วนบุคคลที่มนุษย์ควรจะมีควบคู่กันไปด้วย
และสิ่งสุดท้ายที่อูก้าอยากจะฝากไว้ก็คือ การเริ่มต้นปรับความคิดพลิกชีวิตบวกเริ่มต้นได้ง่าย ๆ จากการเริ่มโฟกัสหรือจับไปที่ความรู้สึกของตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่เริ่มเกิดความรู้สึกในแง่ลบ หรือเกิดอารมณ์เตลิดขึ้นมา ให้รีบดึงความรู้สึกนั้นกลับมาจดจ่ออยู่กับ ณ ขณะปัจจุบัน ในศาสนาพุทธจะเรียกสิ่งนี้ว่าการทำสมาธิ ซึ่งการทำสมาธิในโลกของเรามีหลายแบบไม่จำเป็นต้องนั่งขัดสมาธิแล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกจากเพียงเท่านั้น วิธีที่อูก้านำมาแนะนำนี้ก็จะเป็นวิธีในการฝึกสมาธิอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ลองนำไปฝึกกันดู แล้วคุณอาจจะพบกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อก็เป็นได้