เพราะสุขภาพจิตของ “คุณแม่มือใหม่” ก็ต้องการการดูแล สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย
โดยทั่วไปในสังคมของเรา เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ สิ่งที่เราจะสนใจเป็นอย่างแรกเลยก็คือ สุขภาพร่างกายของคุณแม่และลูกน้อย เพราะร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นำมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อาจจะทำให้เราหลงลืมไปบางอย่าง นั่นก็คือ “สุขภาพใจ” ของคุณแม่เอง
“World Maternal Mental Health Day” เป็นวันที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่มือใหม่ทั่วโลก โดยจะตรงกับวันพุธแรกในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งมึขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของคุณแม่ที่เพิ่งคลอด และให้การสนับสนุนแก่คุณแม่ที่ป่วยทางใจเหล่านั้นค่ะ
สถานการณ์ของคุณแม่ที่ป่วยใจทั่วโลก
ปัญหาสุขภาพจิตของคุณแม่มือใหม่ เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประมาณ 10% ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และ 13% ของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดต่างก็ประสบกับปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล แต่อย่างไรก็ตาม อาการป่วยใจของคุณแม่มักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษา ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแแรงต่อทั้งคุณแม่และคุณลูกได้ค่ะ
ส่วนในประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตของเหล่าคุณแม่กลายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต 20% ของผู้หญิงในประเทศไทยมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด และมีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับการรักษา ทางกรมสุขภาพจิตยังรายงานว่าปัญหาสุขภาพจิตยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคุณแม่มือใหม่ในประเทศไทยด้วย ทำให้สังคมยิ่งต้องให้ความสำคัญและเร่งสร้างความตระหนัก รวมถึงต้องให้การสนับสนุนแก่คุณแม่เหล่านั้นอย่างเร่งด่วน
คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มมีปัญหาทางสุขภาพจิตนั้น อาจมีสัญญาณบ่งบอกที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อาการเริ่มต้นที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่อาการดังต่อไปนี้
7 สัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เริ่มป่วยใจ
- เกิดความเศร้า หรือความรู้สึกสิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง มีภาวะซึมเศร้า
- สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำ
- หงุดหงิดบ่อย หรืออารมณ์แปรปรวน
- นอนหลับยาก หรือนอนมากเกินไป
- สะสมความเหนื่อยล้า พลังงานต่ำ
- ไม่มีสมาธิ หรือตัดสินใจลำบาก
- มีความคิดที่จะทำร้ายตนเอง หรือลูกของตัวเอง
ทำไมต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตของคุณแม่
- ปัญหาสุขภาพจิตอาจส่งผลร้ายแรงต่อลูก อาการป่วยใจอาจขัดขวางความสามารถของแม่ในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูก ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก นอกจากนี้ ลูกของแม่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการล่าช้า ผลการเรียนตกต่ำ ตลอดจนกลายเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นเดียวกับคุณแม่เอง
- ปัญหาสุขภาพจิตอาจถูกซุกไว้ใต้พรม คุณแม่หลายคนรู้สึกอับอายที่จะยอมรับว่าตัวเองกำลังต่อสู้กับอาการป่วยใจ อาจถูกตีตราจากสังคมว่าอ่อนแอและเป็นตัวปัญหา ทำให้คุณแม่บางคนเลือกที่จะปิดบัง ไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการรักษา จนกลายเป็นผลเสียระยะยาวสำหรับทั้งแม่และลูก ด้วยการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจ เราจะสามารถกระตุ้นให้คุณแม่มือใหม่พูดคุยกับคนรอบข้างได้อย่างสบายใจ และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้ตามที่ต้องการโดยไม่มีใครตัดสิน
- เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงทั่วโลก เพราะอาการป่วยใจของคุณแม่มือใหม่สามารถเกิดกับผู้หญิงได้ทุกคน ไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหาเรื่องเงิน เรื่องครอบครัว และความเครียดอื่นๆ มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาสุขภาพจิตได้มากกว่า แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนเหล่าคุณแม่ที่กำลังป่วยใจได้บ้างล่ะ?
5 วิธีการช่วยเหลือคุณแม่ที่ป่วยใจ ที่สามารถทำเองได้
- แสดงความเห็นอกเห็นใจ ด้วยการรับฟังโดยไม่ตัดสิน ลดความกดดันด้วยการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตเพื่อทำลายความเชื่อเดิมๆ
- สนับสนุนการขอความช่วยเหลือ ให้คุณแม่ได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นนักจิตบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ (หรือแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันปรึกษาเรื่องใจอย่าง Ooca เองก็ได้นะ)
- ออกแรงช่วยแบ่งเบาภาระ เช่น การช่วยทำงานบ้าน ทำธุระ หรือดูแลลูกแค่ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้คุณแม่ได้พักบ้าง การแสดงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้สามารถสร้างความเบาใจให้กับคุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ
- สนับสนุนนโยบายและโครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้าง และการจัดการกับปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต การออกเสียงเพื่อสนับสนุนการดูแลใจของคุณแม่จะสามารถช่วยสร้างสังคมที่ให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของแม่และลูกทุกคนได้ค่ะ
- ช่วยเหลือองค์กรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต องค์กรมากมายพร้อมที่จะจัดหาทรัพยากร และความช่วยเหลือให้เหล่าคุณแม่มือใหม่ที่มีปัญหาสุขภาพใจ โดยการบริจาคให้กับองค์กรเหล่านั้นหรือแม้แต่การเป็นอาสาสมัครก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณแม่ทุกคนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่เอง
“World Maternal Mental Health Day” หรือวันส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตของคุณแม่มือใหม่ เป็นตัวช่วยย้ำเตือนถึงความจำเป็นในการตระหนักถึงการดูแลสภาพจิตใจของคุณแม่ เพราะผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยต่างก็มีโอกาสประสบปัญหาสุขภาพจิตด้วยกันทั้งนั้น เราทุกคนสามารถช่วยส่งเสริมให้คุณแม่สามารถเข้าถึงการดูแลที่จำเป็นสำหรับสุขภาพจิตของตัวเอง ร่วมกันสร้างความเข้าใจ ลดการตีตรา และให้การสนับสนุนคุณแม่มือใหม่ เพื่อสร้างสังคมที่คุณแม่สามารถอยู่ได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุข
Ooca แพลตฟอร์มปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ ที่ช่วยให้เราสามารถพูดคุยปัญหาคาใจกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ผ่าน video call โดยเข้าใช้งานได้อย่างเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ
Ooca ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่ทุกคนนะคะ