เคยรู้สึกกันหรือเปล่า? นั่งติดตามข่าวเด่นประเด็นร้อนบนโซเชียล จู่ๆ กลับรู้สึกเครียด หดหู่ เหมือนตัวเองตกอยู่ในห้วงความเศร้าไม่อยากทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ข่าวนั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเองแต่ทำไมเราถึงอินจนแยกตัวเองออกมาไม่ได้… อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นแล้วหายไป แต่ถึงอย่างนั้นมันเป็นสัญญาณบอกว่าใจเรากำลังไม่ไหว ตกอยู่ในภาวะ “Headline Stress Disorder”
“Headline Stress Disorder” เป็นภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลที่สื่อออนไลน์ ที่ข่าวสารหรือข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมเผยแพร่ได้ง่ายดาย ซึ่งข้อดีของมันนอกจากความรวดเร็วทันใจในการเสนอข่าวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ไร้ข้อจำกัดทั้งในเรื่องของพื้นที่และเวลา ทำให้เราสามารถรับข่าวสารในแต่ละวันได้จำนวนมหาศาล ภาวะดังกล่าวเป็นความรู้สึกเกิดจากพติกรรมการรับข้อมูลมากเกินไปจนก่อให้เกิดผลกระทบในระดับจิตใจ ทำให้รู้สึกเครียด หดหู่ กังวล ฯลฯ
จากการพูดคุยกับ คุณกอบุญ เกล้าตะกาญ นักจิตวิทยาของ OOCA ได้ให้คำอธิบายในถึงภาวะดังกล่าวเพิ่มเติมโดยสรุปได้ว่า
ภาวะ Headline Stress Disorder มาจากการรับ ชุดคำในเชิงบวก หรือชุดคำในเชิงลบ
ภาวะ Headline Stress Disorder มาจากการรับ ‘ชุดคำบางคำ’ ที่ทำให้เรารู้สึก trigger หรือกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกในเชิงลบซ้ำ ๆ จนมันส่งผลที่ทำให้เราเครียด หดหู่ ไม่สบายใจ ที่เราพบเห็นบนหน้าสื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยชุดคำเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ
- ชุดคำในเชิงบวก เช่น โพสต์ซื้อรถยนตร์คันใหม่ของเพื่อนใน Facebook, โพสต์ข้อความเล่าความสำเร็จ ชีวิตความเป็นอยู่หรูหรา
- ชุดคำในเชิงลบ เช่น ข่าวภัยธรรมชาติ ข่าวการระบาดของภาวะ Covid-19 เรื่องราวโศกนาฏกรรม
จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า ภาวะ Headline Stress Disorder เป็นภาวะที่ยากเกินจะหลีกเลี่ยง เพราะในวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน ต้องยอมรับกันตามตรงว่าเราแทบจะแยกตัวเองออกจากโลกออนไลน์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราอาจจะสงสัยว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตกอยู่ในภาวะดังกล่าว อาการบ่งชี้ที่แน่ชัดมีข้อสังเกตอะไรบ้าง? ซึ่งนักจิตวิทยาจากแอปพลิเคชัน OOCA ได้ให้คำตอบกับเราไว้ว่า
“วิธีการสังเกตตัวเองเราสมารถแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือทางร่างกาย เราอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สดใส ไม่อยากกิน ไม่อยากนอน ไปจนถึงการเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากความเครียด และเชื่อมโยงมาในส่วนที่สองคือ ทางจิตใจ ที่อาจมีความวิตกกังวลเกินจำเป็น ไม่มีสมาธิทำงาน ความเศร้า หดหู่ เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้จะเกิดได้ในช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามากเกินกว่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้”
4 วิธีทำอย่างไร? หากไม่อยากใจพังจากการเสพข่าว
แล้วเราจะทำอย่างไร? หากไม่อยากใจพังจากการเสพข่าว จนตกอยู่ในภาวะ Headline Stress Disorder นักจิตวิทยาจากอูก้าได้ให้แนวทางการป้องกันการเกิดภาวะนี้ไว้ว่า
เรารู้แล้วว่าภาวะนี้มาจากอะไร ดังนั้นจุดเริ่มต้นอย่างแรกเลยคือ
- การงดหรือรับชุดข้อมูลที่เราอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจในระดับพอดี
- ให้เลือก Platform ช่องทางกับรับข่าวสารที่มีคุณภาพ
- เข้าใจความจริง ตระหนักคุณค่าของตัวเองหากเจอ Headline ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง
- การพาตัวเองไปอยู่ในสังคมดี ๆ หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อเอาตัวเองห่างออกจากการรับสื่อมากเกินความจำเป็น
แนวทางในการเยียวยารักษาใจสำหรับบุคคลที่รู้แล้วว่าตนเองตกอยู่ในภาวะ Headline Stress Disorder
- รู้เท่าทันตัวเอง ให้รู้ตัวว่าชุดข้อมูลแบบไหนยิ่งกระตุ้นให้ไม่มีความสุข ให้ถอยออกมา และรับให้น้อยที่สุด
- สร้าง Self-esteem หาจุดยืนของตัวเอง ชุดข้อมูลบางอย่างอาจทำให้เราเกิดความรู้สึกด้อยค่าตัวเอง พยายามหาคุณค่าของตัวเองจากสิ่งที่เราทำได้ และสร้างความเข้าใจกับตัวเองว่า เส้นทางความสำเร็จหรือความสามารถของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
- การตีความข้อมูลอย่างมีวิจารณญาน พยายามรับข้อมูลอย่างมีสติมากที่สุด บางครั้งความคิดของเราอาจนำไปก่อนในยามที่เผชิญกับภาวะนี้ อาจลองถอยสักหนึ่งก้าวและตีความให้รู้เท่าทันว่าชุดข้อมูลนั้นมีเจตนาอะไรในการนำเสนอ
- อยู่กับความเครียดให้เป็น การมีภาวะเครียดหลังรับข้อมูลวิกฤติต่าง ๆ ที่อาจกระทบกับตัวเรานั้นเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นหากรู้สึกเครียด ให้รับรู้มันตามที่ควรเป็น และไม่จมกับมันนานเกินไป
- หาพื้นที่ปลอดภัยทันที หากรู้สึกไม่สบายจนรับมือเองไม่ไหวควรที่ปรึกษาที่สมารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อ-แม่ คนรัก หรือนักจิตบำบัด
สื่อออนไลน์มีทั้งประโยชน์และโทษ และในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายอยู่แค่ปลายนิ้วของเรา นอกจากคลังข้อมูลมหาศาลอาจยังนำพาภาวะความเครียดต่าง ๆ มาสู่ใจเราได้ สำหรับภาวะ Headline Stress Disorder ถือเป็นภาวะความเครียดที่มาจากบริบทของสังคมที่สื่อออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนสุขภาพใจเราจะพัง การรับข่าวสารอย่างมีสติจะช่วยเราได้ แต่ถ้าหากรู้ตัวว่าไม่ไหว การปรึกษาพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ยังคงเป็นทางออกที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของเราได้เสมอค่ะ