Dysania (โรคเตียงดูด) หรือบางครั้งอาจถูกเรียกว่า Clinomania หรือ Clinophilia เป็นคำที่ใช้อธิบายความรู้สึกที่มาจากความลำบากในการตื่นนอน หรือการลุกจากเตียงในตอนเช้า ทั้ง ๆ ที่นอนหลับเพียงพอแล้ว ซึ่งปัญหานี้อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยสุขภาพจิตต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า, ความวิตกกังวล และความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการนอน หรือสภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ
ผู้ที่มีอาการนี้มักจะพบว่า ภาวะ Dysania รบกวนการทำงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ตามมามากมาย เช่น…การสูญเสียต่อรายได้, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดน้อยถอยลง และทำลายความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกายและจิตใจ โรคเตียงดูด เกิดจาก อะไร วันนี้เราจะมาแนะนำให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักภาวะนี้กันให้มากขึ้น เพื่อนำไปสำรวจสุขภาพจิตของตัวเอง และคนรอบข้างกัน

Dysania (โรคเตียงดูด) คืออะไร?
Dysania คือปัญหาที่มาจากภาวะสุขภาพจิตหรือสุขภาพกายบกพร่อง และภาวะนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ Dysania คือ ภาวะที่จะทำให้ผู้ที่เป็นไม่อยากลุกจากเตียง ซึ่งเกิดมาจากความรู้สึกหนักใจ หรือมีอาการวิตกกังวลเมื่อคิดว่าจะลุกจากเตียง หรือบางครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างหนัก ไม่อยากลุกไปใช้ชีวิตเท่าไหร่ และถึงแม้ว่าจะลุกมาจากเตียงได้แล้ว แต่ผู้ที่มีภาวะ Dysania ก็รู้สึกว่าอยากจะกลับไปนอนที่เตียงอีกครั้ง
ภาวะนี้มักเป็นเรื้อรัง ภาวะ Dysania จะมีความคล้ายคลึงกับภาวะ Clinomania แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยที่ภาวะ Clinomania จะทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้อยากนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน และมีปัญหากับการลุกจากเตียงมาก ๆ แต่ภาวะ Dysania หรือ อาการโรคเตียงดูด ผู้ที่มีอาการจะอยากนอนอยู่บนเตียงประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงแม้จะตื่นแล้ว และทั้งภาวะ Dysania และ Clinomania สามารถรบกวนชีวิตของผู้ที่เป็นได้อย่างมาก และทำให้การเข้าสังคมยากขึ้น
Dysania อาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาจากโรค หรือกลุ่มอาการอื่น
โรคเตียงดูด อาจมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทางจิต หรือสุขภาพที่เกิดขึ้นทางกายก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น
- อาการซึมเศร้า: เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางอารมณ์ที่ทำให้ผู้ป่วย เกิดความเศร้า, ไม่มีแรง และมีความเหนื่อยล้าถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
- อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (CFS): ผู้ที่เป็นโรค CFS จะรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน และแม้จะพักผ่อน แล้วแต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia): ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดอย่างรวดเร็ว มีปัญหาด้านความจำ และอารมณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งยังสร้างความเหนื่อยล้าอย่างหนักต่อผู้ป่วย
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ: เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีบางสิ่งขัดขวางการหายใจของคุณในขณะที่คุณนอนหลับ ทำให้รู้สึกไม่มีแรง และง่วงนอนในเวลากลางวัน
- โรคโลหิตจาง: เมื่อคุณมีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงไม่เพียงพอ ระดับพลังงานในร่างกายของคุณก็จะลดต่ำลงไปด้วย
- ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์: หากต่อมไทรอยด์ไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเฉื่อยชา
- โรคเบาหวาน: ระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะดูดพลังงานในร่างกายของคุณให้หมดไปอย่างรวดเร็ว
- โรคหัวใจ: ปัญหาที่เกี่ยวกับหัวใจอาจทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยมากกว่าปกติ
- ความผิดปกติของการนอนหลับ: เกิดสภาวะการนอนบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ เช่น….การนอนไม่หลับหรือลมหลับ อาจทำให้ตื่นยากในตอนเช้า
นอกจากนี้ยาที่ใช้ในการรักษาโรคประจำตัวเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและนำไปสู่อาการผิดปกติของการนอน และการตื่นได้ด้วย

โรคเตียงดูด VS ขี้เกียจแตกต่างกันอย่างไร?
ด้วยความที่การเกิดโรคเตียงดูด กับความขี้เกียจของแต่ละคน อาจมีอาการบางอย่างที่ซ้อนทับกัน ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสงสัยว่าอาการที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นโรคเตียงดูดหรือขี้เกียจ กันแน่ เราก็มีข้อสังเกตเพิ่มเติมมาแนะนำกัน
1. ความขี้เกียจ
เป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยของมนุษย์ที่สามารถพบกันได้ทั่วไป แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบ ต่อการใช้ชีวิตสักเท่าไหร่นักบางครั้งผู้ที่ยังไม่อยากตื่นหรือขี้เกียจตื่น ก็อาจจะเกิดจากอาการนอนไม่พอ เพราะนอนดึก ทำงานหนัก แต่เมื่อนอนเต็มอิ่มแล้วก็อยากจะลุกขึ้นมาจากเตียงเพื่อทำกิจกรรมวันอื่น ๆ ต่อไป
ในขณะเดียวกันอาการขี้เกียจก็จะไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคมสามารถทำได้ปกติ สามารถทานอาหารเต็มอิ่ม ออกกำลังกายทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ได้รู้สึกหดหู่ รู้สึกเศร้า จนไม่สามารถทำอะไรได้ ก่อนนอนอาจจะรู้สึกเหนื่อยมาก แต่เมื่อได้นอนหลับเต็มที่ก็รู้สึกสดชื่นหายเหนื่อย
2. โรคเตียงดูด หรือ ที่นอนดูด
เกิดจากสภาพจิตใจที่เหนื่อยล้าอย่างหนัก หรือเกิดจากผลกระทบของการเกิดโรคบางอย่างที่เราได้กล่าวไว้ในข้างต้น ไม่มีแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาจากเตียงเพื่อใช้ชีวิต ไม่อยากเจอกับผู้คน ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับใคร รู้สึกไม่สดชื่นตลอดเวลาแม้จะนอนเต็มอิ่มแล้วก็ตาม
เมื่อไหร่ที่คุณควรไปพบแพทย์
ในกรณีที่ภาวะนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงแรก ๆ ผู้ป่วยอาจจะยังไม่รู้สึกตัวเท่าไหร่ แต่หลังจากผ่านไปประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวว่าตนเองเริ่มมีความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที แม้ว่าอาการจะยังไม่หนักหนักเข้าขั้นรุนแรงก็ตาม ในกรณีที่คุณมีภาวะหรือมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
- หายใจถี่หรือเจ็บหน้าอกในตอนที่หายใจ
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง, ปวดท้อง, ปวดหลัง หรือปวดกระดูกเชิงกราน
- มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น
เตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนไปพบแพทย์
ยิ่งคุณหมอมีรายละเอียดเกี่ยวกับอาการที่คุณเป็นอยู่มากเท่าไหร่ คุณหมอก็จะสามารถนำข้อมูลเหล่าไปวินิจฉัยและหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้อย่างแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น โดยก่อนที่คุณจะไปพบแพทย์ให้คุณเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้ครบ
- ประวัติทางการแพทย์ รวมถึงยาและอาหารเสริมที่คุณทาน
- ประวัติทางการแพทย์ของครอบครัว
- อาการอื่น ๆ ที่คุณกำลังประสบ
- การนอนหลับ การออกกำลังกาย และพฤติกรรมการบริโภคอาหารในแต่ละวัน
- ความเครียด และการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในชีวิตที่เกิดขึ้น
และคุณหมออาจส่งคุณไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือทำการทดสอบการทำงานของหัวใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอาการของคุณ หรือสุดท้ายแล้วถ้าภาวะนี้เกิดจากอาการทางจิตเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษา เพื่อพูดคุยหาแนวทางการรักษากับจิตแพทย์ต่อไป
วิธีหลีกเลี่ยงการเสพติดการนอน นอนเท่าไหร่ถึงจะพอ?
การนอนหลับให้เพียงพอมีความสำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของทุก ๆ คน แต่การนอนมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ องค์กรการกุศลของอเมริกา (The National Sleep Foundation) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงนอนหลับ 7 – 9 ชั่วโมง ซึ่งระยะเวลาการนอนที่มากกว่านี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน,เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ และเราได้นำเคล็ดลับสร้างวินัยทางการนอนที่ดีมาฝากคุณกัน
- ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง
- ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ฝึกนิสัยการนอนให้ถูกสุขลักษณะ
- วางแผนกิจวัตรตอนเช้า โดยเป็นกิจวัตรที่ทำให้คุณมีความสุข และช่วยลดความเครียด
- กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายให้เพียงพอ
Dysania (โรคเตียงดูด) เป็นภาวะทางความรู้สึกเรื้อรังที่ทำให้คุณไม่สามารถลุกจากเตียงในตอนเช้าได้ แม้ว่าจะไม่ใช่การวินิจฉัยทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่การเกิดอาการนี้ก็เป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีภาวะสุขภาพอื่นที่ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ หรือร่างกายเป็นอย่างมาก
ดังนั้นในยามที่คุณเริ่มรู้สึกตัวว่าคุณกำลังเกิดปัญหา แนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้จัดการกับภาวะอารมณ์หรือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นให้คลี่คลายไปได้ คุณสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้แบบง่าย ๆ ที่เว็บ ooca เว็บปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์แบบส่วนตัว ที่จะช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาทางจิตใจตามหลักวิชาทางการแพทย์
อ้างอิง: How to Recognize and Manage Dysania