วิธีโน้มน้าวคนใกล้ชิดไปพบจิตแพทย์

วิธีการสื่อสาร วิธีโน้มน้าวคนใกล้ชิดไปพบจิตแพทย์ และความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต ในการช่วยเหลือคนที่เรารัก ไปสู่การรับการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธี
วิธีโน้มน้าวคนใกล้ชิดไปพบจิตแพทย์

เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อ

วันนี้อูก้าอยากจะชวนคุณมาลบล้างภาพจำที่เกี่ยวกับการไปพบจิตแพทย์ ในอดีตหลาย ๆ คนมองว่าผู้ที่ไปพบจิตแพทย์จะต้องเป็นบ้า มีอาการคลุ้มคลั่งแบบที่เราเห็นกันในช่วงละครหลังข่าว ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบผิด ๆ ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นความเชื่อที่ทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบอย่างรุนแรง เพราะผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

การไปพบจิตแพทย์ คือ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ในยามที่คุณเกิดความไม่สบายในจิตใจ การไปหาจิตแพทย์จะเป็นคำตอบและทางเลือกที่ดีที่สุด และถ้าในวันนี้มีคนที่คุณกำลังเป็นห่วง และเขากำลังเกิดความไม่สบายใจ คุณอยากจะชักชวนให้เขาไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพูดอย่างไรดี วันนี้อูก้าก็ได้นำเคล็ดลับที่น่าสนใจมาฝากกันอีกเช่นเคย ซึ่งจะเป็นเคล็ดลับที่ช่วยถนอมจิตใจของผู้ป่วย และในขณะเดียวกันคุณก็สามารถซัพพอร์ต และให้ความช่วยเหลือเขาได้อย่างเต็มที่

5 วิธีโน้มน้าวใจพาคนที่คุณห่วงใยไปพบจิตแพทย์

มาเริ่มต้นทำความรู้จัก กับวิธีโน้มน้าวใจของผู้ที่กำลังไม่สบายใจกันดีกว่า ถ้าคุณยังคิดคำเชิญชวนที่เหมาะสมยังไม่ได้ ลองนำ 5 วิธีจากอูก้า ไปใช้กันดู 

1. แสดงความรักและไม่ตัดสิน

อันดับแรกคือห้ามตัดสินความทุกข์ของผู้อื่นอย่างเด็ดขาด และในขณะเดียวกันคุณก็จะต้องแสดงความห่วงใยให้ผู้ที่กำลังป่วยได้รับรู้อย่างเต็มที่ เมื่อผู้ป่วยสัมผัสได้ถึงความจริงใจและความห่วงใยที่คุณมี ก็จะเป็นโอกาสดี ๆ ที่จะโน้มน้าวใจเขาให้ไปพบจิตแพทย์ได้ง่ายมากขึ้น เพราะไม่ว่าใคร ๆ ต่างก็อยากได้ความจริงใจทั้งนั้น 

2. เลือกเวลาและสถานที่ในการชักชวน ให้เหมาะสม

การพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตนั้น ต้องใช้ความละเอียดอ่อนทางอารมณ์เป็นอย่างมาก คำแนะนำของอูก้า คือ ให้คุณเลือกเวลาและสถานที่ให้ดี เพื่อทำให้คนที่คุณรักรู้ว่า คุณห่วงใยเขาขนาดไหน และคุณต้องการช่วยเหลือเขาจริง ๆ และควรหลีกเลี่ยงการเริ่มการสนทนานี้ต่อหน้าผู้อื่น หรือในที่ที่ผู้อื่นสามารถได้ยินการสนทนาได้ และพยายามเข้าหาตอนที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ดี หรือตอนที่อารมณ์ปกติ ไม่ใช่ตอนที่มีอารมณ์ไม่ดี เหนื่อย หรือเครียด สิ่งสำคัญที่สุดคือเข้าหาด้วยความ “จริงใจ” 

3. ให้เหตุผลแก่ผู้ป่วยอย่าง “ชัดเจน”

นอกจากจริงใจแล้วยังต้องชัดเจน หลังจากที่คุณทำการชักชวนและแนะนำสถานที่รักษาตัวแล้ว ให้คุณเสริมด้วยประโยคที่แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของเป้าหมายในการชักชวนไปหาจิตแพทย์ในครั้งนี้ เช่น “ที่ฉันมาแนะนำในครั้งนี้ เพราะฉันเห็นคุณลำบาก” หรือ “ฉันรักคุณและเป็นห่วงคุณมาก ฉันอยากช่วยคุณ” สิ่งนี้จะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าคำแนะนำของคุณมาจากความรัก การสนับสนุน และความห่วงใย จริง ๆ 

4. แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของคุณ

หากคนที่คุณรักเกิดความลังเล การแบ่งปันประสบการณ์ของคุณที่เคยไปพบจิตแพทย์มาจะช่วยในการเสริมแรงชักชวนได้ หากคุณเคยไปบำบัด หรือเคยมีประสบการณ์ในการคุยกับนักจิตวิทยาหรือคุณหมอจิตแพทย์ ให้อธิบายว่าการไปหาหมอนั้นเป็นอย่างไร และจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร การแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของคุณจะช่วยลดความลำบากใจในการเข้ารับการบำบัดได้ดีอีกด้วย 

5. ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

ต้องยอมรับเลยว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดรับความคิดเรื่องการพบจิตแพทย์ ดังนั้นคุณต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ถ้าอีกฝ่ายมีท่าทีต่อต้านคำแนะนำของคุณ เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณต้องเข้าใจว่ามีข้อจำกัดในการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะท้ายที่สุดแล้ว คุณไม่สามารถบังคับให้ใครสักคนไปหาหมอได้ถ้าตัวเขาไม่ต้องการ ดังนั้น สิ่งที่คุณทำได้คือให้กำลังใจ และไม่ต้องโทษตัวเองเพราะคุณทำดีที่สุดแล้ว  

นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีการเปลี่ยนใจในภายหลัง ให้คุณพูดเสริมเพิ่มเติมเอาไว้ด้วยก็ได้ เช่น “ถ้าเปลี่ยนใจสามารถมาปรึกษาได้เสมอ” หรือ “ถ้าวันไหนพร้อม นัดมาเลยเดี๋ยวจะไปเป็นเพื่อน” เป็นต้น 

การยอมรับ คือ ความกล้าหาญ

การแสดงออกถึงความกล้าหาญนั้นมีหลายแบบ และการยอมรับว่าตัวเองกำลังอยู่ในช่วงสภาพจิตใจย่ำแย่ ดิ่งลึก หาทางออกไม่เจอต้องการได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และต้องการการปรับปรุงที่ดีขึ้น ดังนั้นนอกเหนือไปจากการใช้คำชักชวนแล้ว การชมเชย การผลักดันให้ผู้ป่วยก้าวเข้าสู่ความกล้าหาญด้วยตนเองครึ่งหนึ่ง และมีคุณช่วย support อีกครึ่งหนึ่ง ก็จะทำให้เป็นการเสริมแรง ทำให้ผู้ป่วยพบกับหนทางในการแก้ปัญหาที่มีความเหมาะสมที่สุด ส่วนคุณก็จะเบาใจได้มากขึ้น 

การโน้มน้าวให้คนที่คุณรักไปพบจิตแพทย์ ต้องใช้ ความเข้าใจ ความจริงใจ ความชัดเจน และความเต็มใจที่จะเคารพในการตัดสินใจของพวกเขา และต้องสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับการสนทนา แสดงความห่วงใยอย่างแท้จริง และให้ข้อมูลตลอดจนรับทราบข้อมูลโดยไม่ตัดสิน ชักชวนอย่างนุ่มนวล และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ขอให้คุณเตรียมใจเอาไว้ด้วย เพราะผู้ป่วยอาจจะยอมรับกับคำชักชวนของคุณก็ได้หรืออาจจะไม่ยอมรับก็ได้ และถ้าคุณทำทุกอย่าง อย่างเต็มที่แล้ว ก็จะไม่มีเรื่องที่ทำให้คุณต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

แชร์บทความนี้ ให้คนที่ห่วงใย

OOCA
OOCA
บทความด้านสุขภาพจิตหลากหลายด้าน เป็นคลังความรู้ให้คุณได้อ่านและพร้อมรับมือกับทุกปัญหา
สนใจปรึกษานักจิตวิทยา
แบบนั่งคุยจากที่บ้าน
ดาวน์โหลดแอพอูก้าได้เลย
อูก้าเป็นกำลังใจให้นะ!
แอดเลย Line Official
Toxic parents not Safe zone

เมื่อครอบครัวไม่ใช่ Safe zone การเข้าใจและการรับมือกับพฤติกรรม Toxic parents

คุณไม่ได้ยืนคนเดียว: สุขภาพจิตของคุณเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เข้าใจวิธีรับมือกับ Toxic parents จากครอบครัวที่ไม่เป็น Safe Zone

สุขภาพจิตในผู้สูงอายุ

วิธีการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผู้สูงอายุมีโอกาสพบปัญหาสุขภาพจิตที่ผิดปกติได้ การเข้าใจและการสนับสนุนจากครอบครัวและคนใกล้ชิดสามารถช่วยหาทางแก้ไขเพื่อมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้

ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์

วิธีแก้ปัญหาครอบครัว และเคล็ดลับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

แก้ไขปัญหาครอบครัวและสร้างความสัมพันธ์ดีด้วยเคล็ดลับที่เข้าใจง่าย พิเศษสำหรับคุณที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งในครอบครัวของคุณ

ขอบคุณที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจากเรา

อูก้า เรื่องของใจ ให้เรารับฟัง

ooca It’s okay we’ll listen