อารมณ์ด้านลบ เช่น ความกลัว, ความเศร้า และความโกรธ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และบางครั้งคนเราก็มีปัญหากับการจัดการกับอารมณ์ด้านลบอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาสุขภาพจิตที่ดี มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าเราปล่อยให้อารมณ์ในแง่ลบเหล่านี้ครอบงำ ก็อาจนำไปสู่ผลด้านลบได้ หากอารมณ์ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งวันนี้อูก้าก็จะมาแนะนำเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยควบคุมอารมณ์และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้แก่คุณกัน
การควบคุมอารมณ์คืออะไร?
การควบคุมอารมณ์ คือการกระทำที่ตั้งใจเปลี่ยนความรุนแรงทางอารมณ์ในขณะที่เกิดขึ้น ให้มีอารมณ์หรือความรู้สึกที่เบาบางลง สำหรับบางคนสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ เพราะมีความฉลาดทางอารมณ์สูง แต่บางคนก็มีการควบคุมอารมณ์ที่ยากยิ่ง ทำให้บางครั้งการมีอารมณ์ในแง่ลบ โกรธ โมโห ทำให้เกิดการเตลิด และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้าย ถ้าในวันนี้คุณยังควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างยากเย็น หรืออยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่มีสติ มีความใจเย็นมากกว่านี้ ทักษะนี้ อูก้าขอบอกเลยว่าเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และการเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์เชิงลบจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิตของคุณเป็นอย่างมากด้วย
5 วิธีควบคุมอารมณ์โกรธ
อย่าปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือสติของคุณ เพราะคุณเป็นเจ้าของอารมณ์ เจ้าของความรู้สึก ดังนั้นสิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนที่ใจเย็นลง สามารถควบคุมอารมณ์ในยามที่เจอสถานการณ์อันยากลำบากได้ คุณจะต้องระลึกถึงอยู่เสมอว่าคุณคือเจ้าของอารมณ์ และคุณสามารถควบคุมอารมณ์ได้ทั้งหมด
ไม่เว้นแม้แต่อารมณ์โกรธที่ถึงแม้กำลังไต่ระดับ Level ถึงขีดสุดก็ตาม ดังนั้นก่อนที่คุณจะฝึกฝนด้วยเคล็ดลับทั้ง 5 ข้อที่อูก้านำมาแนะนำกันนี้ ให้คุณตอกย้ำตัวเองจนมั่นใจเสียก่อนว่า คุณคือเจ้าของอารมณ์ คุณสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ในทุก ๆ สถานการณ์
1. หยุดคิดและหายใจ
อารมณ์ในแง่ลบนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะอารมณ์โกรธจนบางครั้งคุณอาจรู้สึกกำลังโมโหเดือดปุด ๆ แบบไม่ทันได้รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ วิธีแรกในการดึงสติ คือ STOP! หยุดคิดพร้อมหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกช้า ๆ
2. ถามตัวเองว่า คุณรู้กำลังสึกอย่างไร
อารมณ์โกรธมักจะมาพร้อมกับความผิดปกติทางร่างกาย ถ้าคุณอยากรู้ว่าตอนนี้คุณกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ ให้สังเกตปฏิกิริยาทางร่างกายของคุณให้มากขึ้น และให้ตั้งคำถามกับตัวเองมาก ๆ เช่น ตอนนี้คุณกำลังท้องไส้ปั่นป่วนอยู่หรือเปล่า? หัวใจของคุณกำลังเต้นรัวอยู่หรือเปล่า? คุณรู้สึกตึงที่คอหรือศีรษะหรือไม่? ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคุณอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคุณกำลังประสบกับอารมณ์อะไรอยู่
3. ระบุที่มาของอารมณ์
หลังจากทำความเข้าใจกับอารมณ์ที่คุณรู้สึก ให้คุณทำการนิยามอารมณ์ออกมา ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ผิดหวัง หรือไม่พอใจ จากนั้นให้ขุดลึกลงไปอีกหน่อย เช่น ถ้าคุณรู้สึกกลัว คุณกำลังกลัวอะไร? ถ้าคุณรู้สึกโกรธ คุณกำลังโกรธเรื่องอะไร? ความสามารถในการตั้งชื่ออารมณ์นี้ จะทำให้คุณได้ทำความรู้จักกับต้นสายปลายเหตุของที่มามากขึ้น และทำการจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้น
4. ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น
การมีอารมณ์เป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แทนที่จะรู้สึกแย่กับตัวเอง ให้คุณตระหนักว่าปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้บานปลาย พยายามฝึกทำความเข้าใจ รับรู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ เป็นปฏิกิริยาปกติของมนุษย์
5. การฝึกสติ
สติทำให้เรา “อยู่กับปัจจุบัน” โดยโฟกัสจิตให้ความสนใจไปกับสิ่งที่อยู่รอบตัว ใช้ประสาทสัมผัสของคุณเพื่อสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณโดยไม่ตัดสิน ทักษะนี้จะทำให้คุณสงบสติอารมณ์และหลีกเลี่ยงการนำจิตไปติดอยู่กับความคิดเชิงลบ เมื่อคุณอยู่ท่ามกลางความเจ็บปวดทางอารมณ์ เช่น คุณกำลังนั่งอยู่ที่ทำงาน ให้นำจิตที่กำลังโมโหไปจับกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น แก้วกาแฟสีแดง, โต๊ะสีน้ำตาล, เก้าอี้สีขาว, ปากกาสีน้ำเงิน เป็นต้น เทคนิคนี้นำไปใช้กับความกลัวอย่างได้ผลเช่นเดียวกัน
พยายามมองหาอารมณ์ในเชิงบวก โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ให้น้ำหนักกับอารมณ์ด้านลบมากกว่าอารมณ์เชิงบวก สิ่งนี้เรียกว่าอคติเชิงลบ อารมณ์ด้านลบ เช่น ความรังเกียจ ความโกรธ และความเศร้ามักจะมีน้ำหนักมาก และมากกว่าความรู้สึกเชิงบวก เช่น ความพึงพอใจ ความสุข และความรู้สึกขอบคุณ การสร้างนิสัยในการสังเกตประสบการณ์เชิงบวกเหล่านี้ สามารถเพิ่มความถ่ายเทไปจับที่การโฟกัสในเชิงบวก และการเพิ่มความเป็นอยู่ทางสุขภาพจิตที่ดีกว่าเดิมได้
ความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์คืออะไร?
ความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ จัดเป็นภาวะที่บางคนมีปัญหาในการจัดการความรู้สึกของตนเอง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ บุคคลที่มีความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ มักมีแนวโน้มที่จะประสบกับการจัดการอารมณ์ที่ยาก โดยอาจส่งผลทำให้เกิดผลลัพธ์ดังต่อไปนี้
- ความยากลำบากในการสร้าง และการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี
- เป็นพฤติกรรมทำลายตนเอง
- มีอารมณ์แปรปรวน หรืออารมณ์ฉุนเฉียวบ่อย ๆ
- มีการระเบิดของอารมณ์
ความผิดปกติด้านการควบคุมอารมณ์อาจมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ หรือความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด หรือโรคบุคลิกภาพ ที่มักจะทำให้การควบคุมอารมณ์มีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้นถ้าคุณกำลังเกิดความกังวลใจ กลัวว่าตนเองอาจกำลังประสบกับภาวะอาการเช่นนี้ อย่าเก็บไว้คนเดียว นำปัญหาที่คุณกำลังพบมาปรึกษากับอูก้าเพื่อช่วยกันหาทางออกกันดีกว่า แล้วใจของคุณจะเบาขึ้นอีกเยอะ